แรงงานนอกระบบกับ มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19

ภายใต้วิกฤตของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้นำมาซึ่งความวิตกกังวลแก่กลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่ง มีจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในเมือง พวกเขากังวลถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่กลัวจะติดเชื้อ กับกังวลที่จะต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสตัวนี้ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ปัจจุบันกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ ต้องเผชิญกับสภาพการทำมาหากินที่ฝืดเคือง  ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยหลายคนให้ข้อมูลว่ารายได้ของพวกเขาลดลงมากถึง 30-50 % ในขณะที่ผู้ขับรถมอเตอร์ไซด์และแท็กซี่รับจ้าง มีผู้โดยสารน้อยลงมาก เพราะคนส่วนใหญ่ ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโดยการอยู่บ้าน และลดกิจกรรมทางสังคมภายนอก หมอนวดแผนโบราญและ ช่างเสริมสวย ก็เจอสภาพนี้เช่นกัน ในขณะที่ ผู้ที่ทำงานผลิตสินค้าหัตถกรรมอยู่ตามบ้าน ก็ไม่รู้จะนำสินค้าของตนไปขายที่ไหน   ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบที่เลี้ยงชีวิตด้วยค่าแรงเช่นพนักงานในร้านอาหารขนาดเล็ก และ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ก็มีงานลดลงหรือบางคนก็ไม่มีงานทำ  ลูกจ้างทำงานบ้านที่ต้องทำงานรักษาความสะอาด และดูแลเลี้ยงดูคนอื่น ๆ ต้องทำงานหนัก เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส และกังวลว่านายจ้างจะไม่มีเงินจ้างเขาทำงานต่อไป

ภายใต้วิกฤตทางสุขภาพและวิกฤตทางเศรษฐกิจนี้ แรงงานกลุ่มนี้ มีสายป่านที่สั้นเพราะเป็นกลุ่มที่ต้องหาเช้ากินค่ำ มีเงินเก็บจำนวนน้อย ไม่สามารถรับสภาพการณ์แบบนี้ได้นาย  สำหรับพวกเขา มันเหมือนการตกงาน ซึ่งเงินทองที่เขามีอยู่อาจจะช่วยเขายื้อได้ไม่เกิน 7 วัน พวกเขาจึงต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะอดตายไปก่อนที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด -19 นี้

จากสถานการณ์ที่กล่าวมา สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และเครือข่ายวิชาการเพื่อสร้างเมืองสำหรับทุกคนจึงได้ร่วมกันนำเสนอมาตรการเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่งในประเทศไทยของเรามีอยู่มากกว่า 20 ล้านคน ดังนี้

มาตรการด้านการเงินและภาษี

  • ขอให้ปรับเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย รายจิ๋ว และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย  ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ขับรถแท็กซี่รับจ้าง  วงเงินสินเชื่อไม่เกิน หนึ่งล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%และลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1% ในกรณีที่มีการรวมกลุ่มอาชีพ
  • พักเงินต้น  ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย รายจิ๋ว และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • ขอให้รัฐบาลเจรจากับสถาบันการเงินเอกชนเพื่อผ่อนคลายการชำระคืนเงินกู้ และเงื่อนไขต่าง ๆ  เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการรายย่อย รายจิ๋ว และผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  • ลดภาษีมูลค่าเพิ่มลง 1 %เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานนอกระบบและประชาชนทั่วไป

มาตรการด้านการจ้างงาน

  • ส่งเสริมการจ้างงานผู้ผลิตรายย่อย โดยจัดสรรโควตาไม่น้อยกว่า 30 % ของ การจัดซื้อ จัดจ้างผลิตภัณฑ์ที่หน่วยงานรัฐต้องใช้ผ่านกลุ่มผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระเช่น กระเป๋าสัมมนา ของที่ระลึก ผ้าปิดจมูก เสื้อยืด รวมทั้งการจัดจ้างให้ทำงานบริการ หรือการจ้างแรงงาน แก่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่นการขุดลอกท่อ การตัดแต่งกิ่งไม้ หรืออื่น ๆ เป็นต้น
  • มีมาตรการสนับสนุนการใช้สินค้าจากชุมชน สินค้าที่ผลิตในประเทศ เช่นส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยอาทิตย์ละ 3 วัน นำอาหารแปรรูปจากกลุ่มผู้ผลิตมาจัดเป็นอาหารว่างของส่วนราชการ เป็นต้น
  • คืนโอกาสในการประกอบอาชีพและพื้นที่ทำมาหากินให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากสำคัญ เช่นหาบเร่แผงลอย พื้นที่จอดรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยปรับมาตรการจัดระเบียบให้สามารถปฏิบัติได้จริงและเร่งด่วน
  • สนับสนุนคูปอง เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่นผู้ค้าอาหารหาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง และผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะ สามารถนำไปซื้อน้ำมันและแก๊สหุงต้ม ในราคาที่ได้รับการสนับสนุน

มาตรการด้านสุขภาพและและอื่นๆ

  • จัดบริการรถเมล์ และรถไฟฟรี สำหรับประชาชนทุกคน
  • ลดการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาของเยาวชนเพื่อลดภาระของผู้ปกครอง แม้ผู้ปกครองไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเทอมแล้ว  แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ากิจกรรมพิเศษ  ค่าเครื่องปรับอากาศ  ค่าใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • ลดดอกเบี้ยสถานธนานุเคราะห์เพื่อลดภาระ และช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อน
  • แจกอุปกรณ์ป้องกันไวรัสโคโรนาให้กับแรงงานที่ให้บริการสาธารณะและมีความเสี่ยงในการเป็นผู้รับเชื้อ และแพร่เชื้อ เช่นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง และผู้ขับรถแท็กซี่ เป็นต้น

มาตรการสำหรับผู้ประกันตนภายใต้ การประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40

  • ลดเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตนภายใต้มาตรา 39 และมาตรา 40 เช่นเดียวกับผู้ประกันตนในมาตรา 33
  • มีมาตรการสินเชื่อสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 เช่นเดียวกับที่ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกอบการ
  • ให้สิทธิประโยชน์กรณีชดเชยการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามจริง โดยไม่นับรวมกับสิทธิประโยชน์เดิมที่กำหนดให้ค่าชดเชยไว้30 วันต่อปี